วันเสาร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2550

รายงาน"สุนทรียศาสตร์กับดนตรี"

ความหมายของดนตรี
ความหมายของ Music ในภาษากรีก หมายถึง ศิลปะประเภทหนึ่ง ไม่เฉพาะแต่การเล่นเครื่องดนตรี การร้องเพลง หรือลีลาศเท่านั้น แต่ยังหมายรวมไปถึงอักษรศาสตร์ทุกประเภท โดยเฉพาะ บทกวี นาฎกรรม วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ด้วย
สุกรี เจริญสุข (2532 : 8 – 9) กล่าวถึงความหมายของดนตรีว่า ดนตรีเป็นงานศิลปะที่มนุษย์สร้างขึ้น โดยอาศัยเสียงเป็นสื่อถ่ายทอดความรู้สึกของศิลปิน เสียงดนตรีเป็นเสียงที่มีความงาม นำมาเรียบเรียงอย่างมีศิลปะ กลายเป็นบทเพลง
ความแตกต่างระหว่างเสียงดนตรีกับเสียงอื่น ๆ คือ เสียงดนตรีเป็นเสียงที่ประดิษฐ์ขึ้น โดยอาศัยความงดงามของเสียง ศิลปินผู้สร้างเสียงได้สอดใส่อารมณ์ลงไปในเสียง เพื่อให้เสียงมีความรู้สึกทางศิลปะ (วิญญาณของศิลปะ) ส่วนเสียงอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เสียงดนตรี เป็นเพียงเสียงที่ขาดคุณสมบัติทางศิลปะ กล่าวคือ ขาดความรู้สึกทางศิลปะในเสียง ขาดวิญญาณศิลปินในเสียง
อารมณ์ ความรู้สึก สิ่งที่มากระทบตัณหา หรือความอยาก สิ่งเหล่านี้จะถูกบันทึกลงไปในดนตรี เป็นคุณสมบัติที่สำคัญของศิลปะ อารมณ์ในดนตรีก็เหมือนกับอารมณ์ชีวิต ศิลปินถ่ายทอดลงไปในผลงานดนตรีที่มีอารมณ์ก็จะสื่อไปกระทบความรู้สึกต่อผู้ชม หรือผู้ฟังได้ ศิลปินเก่งผลงานดี ย่อมมีโอกาสถ่ายทอดอารมณ์ไปสู่ผู้ฟังได้ดี
ดนตรีเป็นศิลปะที่ถูกนำไปแปรความหมายต่าง ๆ มากมาย การค้นหาความหมายในเสียงดนตรี นักภาษาศาสตร์ได้พยายามนำเสียงดนตรีมาตีความ ให้นิยายที่ได้ยินทั่วไปว่า “ดนตรีเป็นภาษาสากล” บางครั้งก็จะได้ยินว่า “ดนตรีเป็นภาษาของอารมณ์”

ดนตรีกับการดำรงชีวิตของมนุษย์
ดนตรี เป็นวิจิตรศิลป์ที่มีความสัมพันธ์กับชีวิตมนุษย์อย่างใกล้ชิด ชีวิตประจำวันของมนุษย์มักมีกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย ดนตรี เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ (สุกรี เจริญสุข. 2532 : 4 – 7)
1. เกี่ยวข้องกับปรัชญาชีวิต คนตะวันตกเชื่อว่าวิญญาณกลับไปสู่พระเจ้า โดยอาศัยเสียงดนตรี จะได้ได้ว่า ดนตรีในสังคมตะวันตกเป็นเรื่องของจิต เรื่องของวิญญาณที่เกี่ยวข้องกับความสะอาด ความสูงส่งของดนตรีทำให้ดนตรีเจริญ สำหรับคนตะวันออกในอดีตมีความเชื่อว่า “ ดนตรี ” เป็นวิชาชั้นต่ำ เป็นกิเลส เป็นข้าศึกแห่งกุศล ดังนั้นดนตรีในสังคมตะวันออกจึงค่อนข้างตกต่ำ ไม่ได้รับการพัฒนาให้เจริญรุ่งเรืองดังชาติตะวันตก
2. ดนตรีเกี่ยวข้องกับจิต เมื่อดนตรีเป็นสื่อ หรือพาหะที่จะนำให้จิตไปสู่ภาวะใดภาวะหนึ่ง ทำให้จิตดำ หรือทำให้จิตขาวก็ขึ้นอยู่กับพาหะ เมื่อวิญญาณกลับไปสู่พระเจ้าด้วยดนตรี ดนตรีก็เป็นเรื่องบริสุทธิ์ ขณะเดียวกันดนตรีเป็นอกุศล มีศีลข้อที่เจ็ดของพุทธศาสนา ให้ละเว้นการขับร้องและประโคมดนตรี ดนตรีก็เป็นของชั้นต่ำ ดังเช่นคำกลอนในวรรณคดีเรื่อง “ พระอภัยมณี ” ของ สุนทรภู่ กล่าวแสดงความคิดว่า ดนตรีเป็นหน้าที่ของทาส และไพร่ ดังคำกลอนต่อไปนี้
“อันดนตรีปี่พาทย์ตะโพนเพลง เป็นนักเลงเหล่าโลนเล่นโชนหนัง
แม้พวกกูผู้หญิงที่ในวัง มันก็ยังเรียนร่ำจนชำนาญ”
และอีกแง่มุมหนึ่งในเรื่อง “พระอภัยมณี” กล่าวถึง คุณค่าของดนตรี ดังนี้
“แม้นปี่เราเป่าให้ได้ยิน ก็สุดสิ้นโทโสที่โกรธา”
นอกจากนี้ ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้กล่าวถึงดนตรีมีคุณค่าต่อจิตที่บริสุทธิ์ มีความสะอาด
โดยกล่าวว่า “ดนตรีและศิลปะบริสุทธิ์มีคุณ สนับสนุนความมีจิตว่าง” เมื่อดนตรีหยาบ ๆ ก็มีโอกาสที่จะทำให้จิตที่สัมผัสกับดนตรีหยาบตามไปด้วย ทำนองเดียวกัน ดนตรีที่ละเอียดอ่อน เมื่อสัมผัสกับจิตก็มีโอกาสทำให้จิตละเอียดอ่อนตามไปด้วย ดนตรีจึงเป็นเพียงสื่อที่จะนำไปสู่ความดำ หรือความขาวได้
3. ดนตรีเกี่ยวข้องกับศาสนาและพิธีกรรม เมื่อดนตรีสามารถเป็นสื่อชักนำไปสู่ความดำหรือความขาว นักการศาสนาจึงนำเอาดนตรีไปเป็นอุปกรณ์การสอน ปรุงแต่งเพื่อช่วยให้คนเข้าใจศาสนาได้ง่ายขึ้น โดยใช้ในรูปของเพลงสวด ดนตรีประกอบพิธีกรรม สำหรับในพุทธศาสนาก็มีเพลงสาธุการ เพลงหน้าพาทย์ ที่ใช้ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ส่วนประเทศทางตะวันตก ดนตรีที่ใช้ในอดีตมักเป็นดนตรีที่ใช้ในพิธีกรรมเกือบทั้งสิ้น
4. ดนตรีเกี่ยวข้องกับการเมือง ในรูปของเพลงปลุกใจ ปลุกศิลปวัฒนธรรมปลุกความสามัคคีของคนในสังคม เพลงประจำชาติ เพลงเกียรติยศ ล้วนแล้วแต่เป็นดนตรีที่เกี่ยวกับการเมืองทั้งสิ้น ขงจื้อ นักปราชญ์จีนเขียนไว้ว่า “ประสบการณ์ของมนุษย์ชาติหลายศตวรรษแล้วได้ชี้ให้เห็นว่า ไม่มีสิ่งใดจะเชื่อมความสัมพันธ์ของมนุษย์ให้กระชับได้ดีเท่าเสียงดนตรี และเสียงเพลง ดนตรีนำความสามัคคีมาสู่ป่วงชน ดนตรีเป็นภาษาสากลที่ทุกคนรับรู้ได้ สัญลักษณ์เป็นสื่อภาษาทางปัญญา ในขณะที่ดนตรีเป็นสื่อแห่งหัวใจ” (สุกรี เจริญสุข : 99 ปี เพลงสรรเสริญพระบารมี)

ไม่มีความคิดเห็น: